กิจกรรมดำน้ำมีสองประเภทหลัก ได้แก่ การดำน้ำแบบสกูบ้า และการดำน้ำแบบฟรีไดวิ่ง สองกิจกรรมนี้เกิดขึ้นที่เดียวกันได้แต่แตกต่างกันยังไงบ้าง? คุณควรเลือกเรียนอย่างไหน? มาดูกันว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างสองกิจกรรมนี้
อุปกรณ์ ถึงแม้กิจกรรมทั้งสองจะเป็นการดำน้ำด้วยกันทั้งคู่แต่ก็มีข้อแตกต่างในด้านอุปกรณ์หลายส่วน
การดำน้ำสกูบ้าเป็นการดำน้ำแบบที่เราสามารถหายใจได้ใต้น้ำจากถังอากาศ ต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่าง เช่น หน้ากาก BCD เรกูเลเตอร์ ถัง ตะกั่วและเข็มขัด และตีนกบ เป็นอุปกรณ์ขั้นต่ำเพื่อให้สามารถดำน้ำได้ นอกจากที่บอกไปข้างต้น ยังมีอุปกรณ์อื่นๆเพิ่มอีก เช่น เวทสูท DSMB ไฟฉาย บู๊ทดำน้ำ หากคุณใช้ฟินแบบเปิดส้น เพราะต้องใช้อุปกรณ์มากกว่าจึงทำให้การดำน้ำสกูบ้าอาจมีราคาแพงกว่าหากคุณต้องการมีอุปกรณ์เป็นของตัวเอง และยังต้องมีขั้นตอนการเตรียมการเพิ่มเติมอีกด้วย เช่นถ้าคุณไปดำน้ำแล้วเกิดโอริงของถังหลุดหายระหว่างการเดินทางและคุณไม่มีอะไหล่สำรอง คุณก็อดดำน้ำ
ในทางกลับกันเนื่องจากในการดำน้ำฟรีไดฟ์คุณต้องกลั้นหายใจ การดำน้ำแบบฟรีไดวิ่งจึงไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณืมากมาย หลักๆมีเพียงแค่หน้ากาก ตีนกบ(ฟิน) และท่อหายใจ(สน็อคเกิ้ล) เท่านี้ก็ดำน้ำได้แล้ว อุปกรณ์เพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ทุ่นและเชือก ตะกั่วและเข็มขัด ทำให้การซื้ออุปกรณ์เป็นของตัวเองถูกกว่า และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเกิดความผิดพลาด
ความยาก
เนื่องจากอุปกรณ์ที่แตกต่างกันเหมือนที่บอกไปแล้ว ความยากของกิจกรรมจึงแตกต่างกัน
การดำน้ำ SCUBA ใช้อุปกรณ์หลายอย่าง ถ้าให้เปรียบก็คงจะเหมือนกับการขับรถ ในตอนแรกที่ฝึกหัดจะซับซ้อนหน่อยแต่เมื่อเป็นแล้วจะง่ายมาก อุปกรณ์ต่างๆจะช่วยให้คุณอยู่ในน้ำหรืออยู่ในความลึกได้นานและง่ายขึ้น SCUBAมีความต้องการทางร่างกายน้อยกว่าและความจำเป็นที่จะต้องมีเทคนิคที่สมบูรณ์แบบน้อยกว่า เนื่องจากคุณมีอากาศหายใจใต้น้ำ แม้ว่าเทคนิคของคุณจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่คุณก็ยังดำน้ำได้ เพียงแต่ไม่ดีและง่ายเท่าการมีเทคนิคที่ดี และจะใช้อากาศมากขึ้น = ใช้เวลาอยู่ใต้น้ำน้อยลง การเคลียร์หูก็ง่ายกว่าเนื่องจากการดำน้ำสกูบ้าคุณสามารถใช้เวลาค่อยๆลงและท่าทางการลงหัวจะอยู่สูงทำให้การเคลียร์หูไม่ยากเท่าไหร่
ฟรีไดวิ่งใช้อุปกรณ์น้อยกว่ามาก ลองเดาดูซิว่าจะดำได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร? ใช่ครับ ตัวคุณเอง! ฟรีไดวิ่งเป็นเหมือนการวิ่งมากกว่า มันเป็นกีฬา ดังนั้นไม่ว่าคุณจะสามารถดำน้ำลึกหรือนาน ได้ก็ขึ้นอยู่กับความฟิตและความคิดกับสภาพจิตใจของคุณ ด้วยเหตุนี้ แต่ละคนจึงมีเป้าหมายในการดำน้ำแบบฟรีไดวิ่งที่แตกต่างกัน บ้างก็เพื่อถ่ายรูป บ้างก็เพื่อความท้าทาย บางคนก็ชอบความรู้สึกของการอยู่ใน/ใต้น้ำโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย การเคลียร์หูก็ยากกว่าเนื่องจากในการดำฟรีไดฟ์เราต้องกลั้นหายใจ เราจึงไม่สามารถใช้เวลาในการลงช้าๆได้เหมือนสกูบ้า ท่าทางการลงหัวจะอยู่ต่ำซึ่งทำให้การเคลียร์หูยากกว่าสกูบ้ามาก
ข้อจำกัด กิจกรรมทั้งสองสามารถเกิดขึ้นได้ในสถานที่เดียวกัน แต่มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
การดำน้ำแบบสกูบามีความยืดหยุ่นมากกว่าหากพูดถึงข้อจำกัดในเรื่องของสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ
ถ้าผิวน้ำมีคลื่น เมื่อดำน้ำลึกเกิน 5 เมตรลงไปก็แทบจะไม่รู้สึกแล้วถึงการโยนของคลื่นผิวน้ำ
หากมีกระแสน้ำแรงสามารถหลบกระแสน้ำอยู่หลังปะการังและหินหรืออยู่ใกล้พื้นทะเลหรือผนัง เพื่อลดการปะทะกับกระแสน้ำได้
หากทัศนวิสัยไม่ดี คุณยังสามารถนำทางโดยใช้เข็มทิศและแผนที่และใช้ไฟฉายในการดำน้ำได้ นอกจากนี้คุณยังอยู่ใต้น้ำซึ่งคุณยังสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมได้ถึงจะมีระยะที่ต่ำก็ตาม
เวลาของคุณในน้ำ/ใต้น้ำถูกจำกัดโดยอัตราการใช้อากาศและปริมาณไนโตรเจนที่ดูดซึมในร่างกาย เมื่อขึ้นมาผิวน้ำคุณต้องพักน้ำ(เว้นจากการดำน้ำระยะเวลาหนึ่ง)เพื่อให้ร่างกายคายก๊าสไนโตรเจนก่อนจะดำในไดฟ์ถัดไป
การฟรีไดวิ่งต้องมีสถาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากกว่า
ถ้าผิวน้ำมีคลื่น คุณจะไม่สามารถลอยตัว relax บนพื้นผิวได้เต็มที่ น้ำจะเข้าท่อหายใจและถูกคลื่นซัดไปมาตลอดเวลาที่ลอยอยู่ผิวน้ำ หรือคุณอาจจะเมาคลื่นได้
หากมีกระแสน้ำแรง คุณจะต้องเตะเพื่อพยายามรักษาให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่คุณต้องการดำน้ำ หรือถ้าเป็นการเทรนกับเชื่อกและทุ่น เชือกจะโค้งและกระแสน้ำจะพยายามพัดคุณออกจากเชือก ทำให้ดำน้ำได้ยากขึ้น
หากทัศนวิสัยไม่ดี เวลาไปดำน้ำเล่น(Fun Dive)คุณจะไม่สามารถมองเห็นพื้นทำให้คุณไม่สามารถบอกได้ว่าคุณอยู่ตรงไหน ใช่จุดที่คุณต้องการดำหรือไม่ และยังเพิ่มความอันตรายอีกด้วย หากเกิดมีใครหมดสติลงและจมลงไป เนื่องจากทัศนวิสัยที่แย่ทำให้คุณมองลงไปไม่เห็นด้านล่าง คุณจะมองไม่เห็นเลยว่าคนที่จมลงไปลอยไปตรงไหนทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ยาก สำหรับการเทรนอาจจะไม่มีผลเท่าไหร่กับการดำแต่มีผลต่อใจและความรู้สึก มันจะดีต่อความรู้สึกมากกว่าหากสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมได้ถึงแม้ว่าระหว่างดำลงไปคุณจะต้องมองแค่เชือกก็ตาม
เวลาของคุณในน้ำ/ใต้น้ำถูกจำกัดตามระดับความเหนื่อยล้าของคุณ คุณสามารถใช้เวลาในน้ำได้มากเท่าที่คุณต้องการ ไม่ต้องพักน้ำ ไม่ต้องห่วงเรื่องไนโตรเจน แต่ประสิทธิภาพของคุณจะค่อยๆลดลงเมื่อความเหนื่อยล้าสะสมมากขึ้น
ความเสี่ยง กิจกรรมดำน้ำทั้ง 2 กิจกรรมมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
การดำน้ำลึกมีความเสี่ยงและการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ ในคอร์สเรียนดำน้ำเราจะได้เรียนรู้การบาดเจ็บชนิดต่างๆของการดำน้ำ เช่น การเจ็บป่วยจากการบีบอัด(barotrauma) การบาดเจ็บที่ปอดขยายตัวมากเกินไป(lung over expansion injuries) การเมาของไนโตรเจน(nitrogen narcosis) ออกซิเจนเป็นพิศ(oxygen toxicity) และอื่นๆ แต่การบาดเจ็บเหล่านี้ไม่ได้เกินขึ้นง่ายๆ เนื่องจากมาตรฐานและข้อบังคับของกิจกรรมดำน้ำแบบสันทนาการมีการลิมิตสิ่งต่างๆให้ต่ำกว่าขีดอันตรายเพื่อให้เผื่อการเกิดข้อผิดพลาดได้ในระดับหนึ่ง คุณไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บเหล่านี้ ในระหว่างหลักสูตร คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบาดเจ็บ ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร จะรักษาอย่างไรถ้ามันเกิดขึ้น และจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ฟรีไดวิ่งมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ความเสี่ยงในการดำน้ำแบบฟรีไดวิ่งคือหมดสติ Black Out (BO) และ Lost of Motor Control (LMC) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากคุณฝึนตัวเองมากเกินไป เพิกเฉยต่อสัญญาณการอยากหายใจ และดำน้ำเพียงลำพัง นักดำน้ำไม่ได้เสียชีวิตจาก BO และ LMC แต่เมื่อพวกเขาหมดสติ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือบัดดี้ที่จะพาพวกเขากลับขึ้นสู่ผิวน้ำและทำการการช่วยเหลือตามขั้นตอนการช่วยเหลือก่อนที่พวกเขาจะเริ่มหายใจใต้น้ำ และสูดหายใจเอาน้ำเข้าไปจมน้ำ กฎข้อหนึ่งของการดำน้ำแบบฟรีไดวิ่งคือห้ามดำน้ำคนเดียว(โดยไม่มีบัดดี้) ความเสี่ยงอื่นๆ เช่น การโดนเรือชนมีมากกว่าการดำสกูบ้าเนื่องจากนักดำน้ำฟรีไดฟ์ใช้เวลาลอยตัวอยู่บนผิวน้ำเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะใช้อุปกรณ์มาร์กเกอร์บนพื้นผิวเช่นทุ่นลอยหรือธงดำน้ำก็ไม่รับประกันว่าอีกฝ่าย (เรือ) จะเห็นคุณลอยตัวอยู่ที่ผิวน้ำ
การถ่ายภาพ
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลโดยสิ้นเชิง
การดำน้ำสกูบ้าสามารถใช้เวลาอยู่ใต้น้ำได้นาน การลงลึกได้ไม่ยาก ดังนั้นคุณจะมีโอกาสมากขึ้นในการถ่ายภาพทิวทัศน์ใต้น้ำและใช้เวลามากขึ้นในการค้นหาสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ การถ่ายภาพคนจะแตกต่างออกไปเนื่องจากมีอุปกรณ์มากขึ้น สไตล์การถ่ายภาพจึงเน้นดูเป็นมืออาชีพ นอกจากนี้คุณยังสามารถนำแฟลชและไฟฉายไปด้วยเพื่อชดเชยการขาดสีและแสงที่หายไปที่ระดับความลึก
ฟรีไดวิ่งมักจะอยู่ใกล้ผิวน้ำ การถ่ายภาพจะใช้แสงธรรมชาติ กล้องถ่ายรูปใต้น้ำจึงมีเพียงกล้อง ไม่มีแขนหรือไฟแฟลชเพื่อลดแรงต้านในน้ำ ภาพถ่ายส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายภาพนางแบบที่แสดงเรือนร่างและท่าทาง
การเดินทาง การเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆและดำน้ำไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทั้งคู่
โดยปกติแล้วอุปกรณ์ดำน้ำสกูบ้ามีให้เช่าตามร้านดำน้ำต่างๆ หากคุณไม่ต้องการขนอุปกรณ์มาเองเพื่อดำน้ำเพียง 2-3 ครั้ง คุณสามารถเช่าได้ อย่างไรก็ตาม คุณจะต้องลองเสี่ยงโชคกับอุปกรณ์ที่คุณไม่อาจทราบได้เลยว่าจะอยู่ในสภาพดีหรือไม่ อีกอย่างที่ต้องไม่ลืมคือ คุณต้องรอ 18 - 24 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่องบินหลังจากดำน้ำแบบ SCUBA เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคน้ำหนีบ(DCS) การดำน้ำแบบสคูบายังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากกว่า ดังนั้นการหาร้านดำน้ำที่สามารถพาคุณไปดำน้ำท่องเที่ยวจึงหาง่ายกว่า
ฟรีไดฟ์ยังเป็นกิจกรรมที่ไม่แพร่หลายหรือเป็ที่รู้จักมากนัก อุปกรณ์ฟรีไดวิ่งจึงไม่มีให้เช่าทั่วไป และการดำฟรีไดฟ์ต้องใช้อุปกรณ์ที่ค่อนข้างพอดีมากกว่าเมื่อเทียบกับสกูบ้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเริ่มดำน้ำมีไม่มาก คุณจึงสามารถใส่สิ่งของส่วนใหญ่ในกระเป๋าเดินทางได้ เช่น หน้ากาก ท่อหายใจ ชุดดำน้ำ และเข็มขัด ตะกั่วสามารถไปใช้จากเรือหากคุณวางแผนจะไปกับเรือสกูบ้า นอกจากนี้คุณยังสามารถแยกชิ้นส่วนฟินและใส่ลงในกระเป๋าสัมภาระของคุณได้อีกด้วย หรือจะมีกระเป๋าอุปกรณ์สำหรับอุปกรณ์ดำน้ำของคุณโดยเฉพาะที่สามารถโหลดได้เวลาเดินทางขึ้นเครื่อง น้ำหนักรวมอาจจะเพียง 3 - 4 กิโลกรัมเท่านั้น และหลังจากดำน้ำเสร็จคุณไม่จำเป็นที่จะต้องเสียเวลารอก่อนขึ้นเครื่องบิน หลังจากดำน้ำฟรีไดฟ์คุณสามารถเดินทางตรงจากท่าเรือไปสนามบินและขึ้นเครื่องแล้วบินกลับบ้านได้เลย
และนี่ก็คือความแตกต่างของทั้งสองกิจกรรม การดำน้ำลึกและการดำน้ำแบบฟรีไดวิ่ง อันไหนดีกว่า? อันไหนยากกว่ากัน? สำหรับผมไม่มีอันไหนดีกว่า การดำน้ำทั้งสองแบบแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คำแนะนำของผมคือลองทั้งสองอย่างแล้วดูว่าคุณรู้สึกยังไง ชอบอันไหนมากกว่า มีหลายคนที่ดำสกูบ้าแล้วมาเรียนฟรีไดฟ์ เกิดชอบฟรีไดฟ์และไม่กลับไปดำสกูบ้าอีก บ้างก็ไม่ดำฟรีไดฟ์อีกเพราะเหนื่อยกว่า ชอบหายใจอยู่ใต้น้ำสบายๆมากกว่า ส่วนตัวผมดำและสอนการดำน้ำทั้งสองแบบอยู่แล้ว และพบว่าทั้งสองเหมาะสำหรับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน หากผมต้องการใช้เวลาในความลึก สำรวจซากเรือ และค้นหาสิ่งมีชีวิตใต้น้ำเช่นดำน้ำหานูดี้ ผมฉันจะเลือก SCUBA เพราะมันทำให้ผมใช้เวลาอยู่ใต้น้ำได้มากขึ้น ถ้าอยากแค่ไปดำเล่นตามแนวปะการังหรือถ่ายรูปนาย/นางแบบ หรือต้องการความท้าทาย ผมจะเลือก Freediving เพราะจะทำให้ผมได้ใช้เวลาอยู่ในน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ถ่ายภาพได้สวยกว่า และท้าทายความสามารถมากกว่า
Comments